ถ้าองค์กรของเราจะเริ่มต้นใช้งานคลาวด์จะต้องเตรียมตัวอย่างไร? จะเริ่มต้นอย่างไรดี?

บ่อยครั้งที่เรามักเจอในการเริ่มต้นใช้งานระบบใหม่ๆ คือไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี เพราะระบบเดิมที่ใช้งานอยู่ก็ทำงานได้ดีอยู่แล้ว การใช้งานระบบใหม่ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาใหม่ได้ เราจึงมักไม่แตะต้องกับระบบเดิมที่ทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่ในการใช้งานจริงโดยเฉพาะในระบบที่ใช้งานมานานเกิน 7 – 10 ปีขึ้นไป ก็มักจะเจอปัญหาเรื่องของ “End of Support” (EOS) หรือ “End of Life” (EOL) ที่ทางผู้ผลิตไม่สนับสนุนการทำงานแล้ว (ไม่ออกแพตช์ความปลอดภัย หากระบบมีช่องโหว่ก็จะไม่แก้ไขเนื่องจากหมดระยะสนับสนุนแล้ว) ไม่ว่าจะเป็นระบบปฎิบัติการอย่างเช่น Microsoft Windows หรืออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ค่าบำรุงรักษาแพงมาก บางครั้งค่าต่อ Maintenance Agreement (MA) ก็แพงกว่าการซื้อเครื่องใหม่ (ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า) เสียอีก สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เราต้องมีการเปลี่ยนระบบที่ใช้งานอยู่เดิมให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และเมื่อเรามีการสั่งซื้ออุปกรณ์ใหม่ก็มักจะโดนผู้บริหารหรือเจ้าของสอบถามว่า “ระบบดังกล่าวที่จะซื้อ สามารถใช้งานคลาวด์แทนได้หรือไม่?” นั่นจึงเป็นเหตุผลของการเขียนบทความนี้...

การย้ายขึ้นคลาวด์ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?
จากประสบการณ์ของผมเอง แนะนำให้พิจารณาการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งจากซับซ้อน ความสำคัญของระบบ และค่าใช้จ่ายเป็นหลัก (อาจจะคำนวณเป็น Total Cost of Ownership หรือ TCO) ยกตัวอย่างลำดับที่มักจะใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งได้ดังนี้

  1. ระบบอีเมล โดยเป็นการใช้งานคลาวด์แบบ Software as a Service (SaaS) ซึ่งคิดค่าบริการตามจำนวนผู้ใช้งานเป็นหลัก หากองค์กรมีการมีการทำระบบอีเมลภายในเป็นของตนเอง การติดตั้งเครื่องเซิร์ฟเวอร์ การดูแลระบบอีเมล การติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย (Email Security Gateway) ของระบบอีเมล เป็นต้นทุนและภาระที่สูงมาก ซึ่งบ่อยครั้งจะถูกแทนที่ด้วยระบบ Microsoft 365 หรือ Google Workspace ซึ่งเป็นระบบอีเมลที่ใช้งานบนคลาวด์คอมพิวติ้งแทน โดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายบุคคล ซึ่งจากการประเมินค่าใช้จ่ายแล้วพบว่าการติตดั้งระบบอีเมลใหม่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากกว่าการเช่าใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้ง ซี่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวต้องพิจารณาทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ รวมไปถึงค่าไฟฟ้า ระบบศูนย์ข้อมูล และค่าดูแลระบบ รวมไปถึงความรู้ความชำนาญ (Skill) อีกด้วย
  2. ระบบประชุมออนไลน์ มักจะเป็นเหตุผลเดียวกับข้อแรก แต่มักจะเป็น Microsoft Teams ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Microsoft 365 หรืออาจจะเป็น Zooms และ Google Meet ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของการใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก สำหรับค่าใช้จ่ายก็ใกล้เคียงกัน แต่โดยรวมแล้วถูกกว่าการทำระบบเอง
  3. ระบบสำรองข้อมูลขององค์กร หากองค์กรของเรามีเซิร์ฟเวอร์ภายในอยู่แล้ว การสำรองข้อมูลให้ปลอดภัยก็ควรจะสำรองข้อมูลในรูปแบบ 3-2-1 ซึ่งควรจะสำรองข้อมูลนอกสถานที่ โดยในปัจจุบันก็นิยมเลือกใช้งานเป็นระบบสำรองข้อมูลบนคลาวด์ (หรือที่เรามักเรียกกันว่า Backup as a Service หรือ BaaS)
  4. ระบบส่งภาษีให้สรรพากร ผ่านทางระบบ e-Tax ซึ่งเป็นข้อกำหนดของทางสรรพากรในการส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างระบบบัญชีภายในองค์กรกับระบบสรรพากรผ่านผู้ให้บริการที่เป็นคลาวด์
  5. ระบบภายในองค์กรที่ใช้งานอยู่เดิม ซึ่งระบบเหล่านี้อาจจะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการย้ายขึ้นใช้งาน ในบทความนี้ผมขออ้างอิงจากทางบริษัท Amazon ที่เรียกว่า “Cloud Adoption Framework” เพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้งาน (สำหรับ Cloud Adoption Framework สามารถค้นหาได้จาก Google ได้หลายที่ ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีแนวทางแนะนำเอาไว้ไม่แตกต่างกันครับ)
เหตุผลหลักที่องค์กรพิจารณาการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้ง 
จากรูปด้านบน เป็นเหตุผลหลักที่องค์กรพิจารณาการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้ง สามารถพิจารณาได้เป็นข้อๆ ดังนี้
  1. การลดความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) ในการลงทุนซื้ออุปกรณ์ด้านไอทีเนื่องจากระบบไอทีมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การใช้งานคลาวด์สามารถขยายระบบตามต้องการ (Pay per use) 
  2. การเพิ่มประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ (Environment, Social and Governance หรือ ESG) ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน การลดการใช้งานพลังงานจากการใช้ฮาร์ดแวร์เก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพด้านพลังงาน (ส่งผลต่อการแข่งขันทางธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทฯ ที่ต้องทำการค้ากับต่างประเทศ) 
  3. การเพิ่มรายได้ (Grow revenue) โดยสามารถสร้างระบบใหม่ได้โดยมีความเสี่ยงต่ำ เพราะเป็นการใช้งานบนคลาว์คอมพิวติ้งแทน หากระบบใหม่ใช้งานได้ดีก็ค่อยพิจารณาว่าจะลงทุนทำระบบเองหรือจะใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งต่อไป 
  4. การการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบไอที (Increase operational efficiency) โดยการลดงานที่ไม่จำเป็นออกไป หรือเป็นการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างเรากับผู้ให้บริการคลาวด์ผ่านทาง Share Responsibility Model) นั่นเอง โดยเลือกโฟกัสกับงานที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจเพียงอย่างเดียว

เราจะมีแนวทางการย้ายขึ้นคลาวด์เป็นอย่างไร?
สำหรับแนวทางการย้ายระบบขึ้นคลาวด์นั้น ขออ้างอิงจากรูปแบบการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งของทาง Amazon จะแนะนำให้นำระบบทั้งหมดที่มีอยู่ในองค์กรมาเพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยจะแบ่งออกได้เป็น 7 รูปแบบดังนี้
แนวทางการย้ายขึ้นคลาวด์
  1. Retire หรือ การยกเลิกการใช้งาน เนื่องจากเป็นระบบเก่าที่ไม่จำเป็นต้องดูแลแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดในกรณีที่เราทำการสำรวจระบบทั้งหมดในองค์กรและอาจจะพบว่าระบบดังกล่าวเก่าเกินไป เกิดปัญหา “End of Life” หรือ “End of Support” เป็นต้น
  2. Retain หรือ การใช้งานระบบเดิมต่อไป เป็นระบบที่พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถย้ายไปใช้งานระบบคลาวด์ได้ โดยมักจะมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างเช่น มีระเบียบข้อบังคับ ข้อกำหนดหรือกฎหมายที่ไม่สามารถย้ายไปใช้งานบนคลาวด์ได้ (จำเป็นต้องอยู่ภายในศูนย์ข้อมูลของตนเอง) เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าหรือพนักงานต้องมีการปกป้องข้อมูลในมาตรฐานที่สูง ต้องเก็บข้อมูลเอาไว้ในประเทศ เป็นต้น หรือเป็นระบบที่มีความเสี่ยงสูง หากเกิดปัญหาจะกระทบต่อการดำเนินการทางธุรกิจ หรือ เป็นระบบเฉพาะทางเช่นระบบ Mainframe ที่ไม่สามารถย้ายไปใช้งานคลาวด์ได้ เป็นต้น
  3. Rehost หรือ การย้ายระบบที่มีอยู่เดิมขึ้นคลาวด์ โดยการย้ายในรูปแบบนี้จะเป็นการย้ายระบบเดิมที่มีอยู่ภายในขึ้นคลาวด์โดยเป็นการย้ายระบบเซิร์ฟเวอร์เดิม ไม่ว่าจะเป็น Physical Machine หรือ Virtual Machine (VM) ที่มีอยู่เดิมมาอยู่บนคลาวด์ ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า “Life and shift” หรือเป็นการประยุกต์ใช้งาน IaaS นั่นเอง ซึ่งรูปแบบการย้ายลักษณะดังกล่าวนั้นจะมีความเสี่ยงต่ำที่สุดในการใช้งานคลาวด์ ซึ่งจะเป็นการลดงานของไอทีลงในส่วนของการดูแลฮาร์ดแวร์ (ตามรูปแบบของการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการคลาวด์) ซึ่งโดยมากแล้วผู้ให้บริการคลาวด์มักจะมีเครื่องมือในการย้ายจากระบบเดิมที่ใช้งานอยู่มายังระบบใหม่ รวมไปถึงช่องทางในการส่งไฟล์ขนาดใหญ่ขึ้นคลาวด์
  4. Relocate หรือ การย้ายส่วนงานบางส่วนที่ใช้งานอยู่แล้วไปยังที่อื่น เช่น ในการใช้งานคลาวด์อยู่แล้วแต่มีการย้าย Region เดิมไปยังที่ใหม่ เป็นต้น ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งาน โดยรูปแบบนี้มักจะเกิดกับการใช้งานคลาวด์อยู่แล้ว และมีการปรับแต่งให้เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน
  5. Repurchase หรือ การซื้อระบบใหม่ทดแทนระบบเดิม ซึ่งเรียกรูปแบบนี้ว่า “drop and shop” เช่น การใช้ระบบอีเมล ระบบประชุมออนไลน์บน Microsoft 365, Google Workspace หรือ Zooms ทดแทนระบบเดิมที่ใช้งานอยู่ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้งาน SaaS ทดแทนระบบเดิมที่เคยใช้งานอยูนั่นเอง
  6. Replatform หรือ การปรับเปลี่ยนระบบเดิมที่มีอยู่ในใช้งานคลาวด์ในบางส่วน ซึ่งเรียกรูปแบบนี้ว่า “lift and re-shape” หรือ “lift, tinker, and shift” เช่น การย้ายระบบเว็บเซิร์ฟเวอร์ภายในองค์กรที่มีการใช้งานฐานข้อมุลแบบ Microsoft SQL Server โดยเป็นการย้ายเครื่องเว็บเซิร์ฟเวอร์ขึ้นไปใช้งาน และเปลี่ยนระบบฐานข้อมูลมาเป็นแบบ PaaS แทน (ในกรณีของ Amazon จะมีบริการ Amazon RDS for SQL Server ที่เป็นบริการ PaaS) ซึ่งจะลดภาระการดูแลเครื่องเซิร์ฟเวอร์และค่าใช้จ่ายด้านลิขสิทธิ์ลงไป
  7. Refactor / Re-Architect หรือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบทั้งหมด เป็นการเปลี่ยนรูปแบบระบบทั้งหมดจากเดิมที่ทำงานแบบ Monolithic มาเป็น Microservice แทน ซึ่งรูปแบบนี้เสมือนกับการทำระบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมใช้งานกันในระบบขนาดใหญ่ที่ต้องการความยืดหยุ่นของระบบสูง หรือที่เราอาจจะได้ยินว่าเป็น “Cloud-native applications” นั่นเอง จากประสบการณ์ของผมมักจะเป็นระบบขนาดใหญ่ มักจะเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น Mobile Banking เป็นต้น

ซึ่งเราสามารถเปรียบเทียบความซับซ้อน และประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งได้ตามตารางด้านล่าง

ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้ง
โดยผมได้ทำตัวอย่างคร่าวๆ ของการประยุกต์ใช้งานคลาวด์ในองค์กรเอาไว้ดังตารางเพื่อเป็นไอเดียในการประยุกต์ใช้งานคลาวด์

หัวข้อ ระบบที่เกี่ยวข้อง แผนการใช้งานคลาวด์ ตัวอย่างการใช้งานระบบคลาวด์
1 ระบบอีเมล Repurchase ใช้งานระบบ SaaS เช่น Microsoft 365, Google Workspace เป็นต้น
2 ระบบประชุมออนไลน์ Repurchase ใช้งานระบบ SaaS เช่น Microsoft Teams ในชุด Microsoft 365, Google Meets ใน Google Workspace หรือใข้งาน Zooms เป็นต้น
3 ระบบสำรองข้อมูล Rehost หรือ Replatform ใช้งานระบบ Backup as a Service (BaaS) โดยต่อยอดจากระบบสำรองข้อมูลแบบเดิม หากรองรับในการสำรองข้อมูลขึ้นระบบคลาวด์ หรือพิจารณาการย้ายเครื่องเซิร์ฟเวอร์ไปใช้งานระบบคลาวด์แทนทั้งหมด
4 ระบบส่งภาษี (e-Tax) Repurchase หรือ Replatform ใช้งานระบบ e-Tax ของผู้ให้บริการ เนื่องจากขั้นตอนการส่งภาษีนั้นมีข้อกำหนดในเชิงเทคนิคและความปลอดภัยในการส่งข้อมูลไปให้กรมสรรพากร โดยเป็นการต่อยอดจากระบบบัญชีเดิมที่มีการใช้งานอยู่แล้ว (Replatform) หรือการเปลี่ยนระบบบัญชีใหม่ที่รองรับการส่งข้อมูลไปให้กรมสรรพากร (Repurchase) เป็นต้น
5 ระบบลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management หรือ CRM) Rehost หรือ Repurchase หากระบบลูกค้าสัมพันธ์เดิมที่ใช้งานภายในองค์กร อาจจะย้ายระบบดังกล่าวไปยังบนคลาวด์ (Rehost) หรือการเปลี่ยนระบบการใช้งานเป็นบริการแบบ SaaS เช่น Saleforce หรือ Microsoft Dynamic 365 เป็นต้น
จากตัวอย่างที่แสดงเอาไว้ด้านบนเป็นตัวอย่างของการประยุกต์ใช้งานคลาวด์ในองค์กร ซึ่งผมแนะนำให้ลองสำรวจระบบที่มีอยู่ภายในทั้งหมดและวางเป็นแผนเอาไว้ หากระบบไหนยังไม่พร้อมที่จะใช้งานระบบคลาวด์ก็เลือกเป็น “Retain” เอาไว้ เพื่อเป็นการบอกว่าเราได้พิจารณาระบบทั้งหมดเอาไว้แล้ว และเลือกว่ายังไม่ได้ใช้งานคลาวด์ในเวลานี้ ซึ่งแผนดังกล่าวอาจจะพิจารณาทุกปี เพื่อสำรวจความต้องการที่แท้จริงขององค์กรว่าเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ระบบประชุมออนไลน์ก่อนการระบาดของโควิด-19 (COVID-19) เป็นระบบที่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่ในช่วงระหว่างและหลังการระบาดของโควิด-19 กลายเป็นระบบพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง: